ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเพาะและขยายพันธุ์ปลา ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

สถานที่ตั้ง ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเพาะและขยายพันธุ์ปลาตำบลบ้านแมด บ้านนาแคน หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านแมด อำเภอบุณฑริก จังหวัดอุบลราชธานี

การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

            ศูนย์การเรียนรู้ด้านการเพาะและขยายพันธุ์ปลาตำบลบ้านแมด เป็นศูนย์การเรียนรู้ขององค์ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ปลาและชยายพันธุ์ปลา โดยมีสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านแมดเป็นแกนหลักในการทำงาน จุดเริ่มต้นจากของการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแมดได้จัดตั้งคณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนตำบลบ้านแมด ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ.2550 (แก้ไขเพิ่มเติมถึง ฉบับที่ 2 พ.ศ.2560)  โดยมีหน้าที่บริหารงานทั่วไปของสภาเด็กและเยาวชนและปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อกำหนดการจัดกิจกรรมการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ มาตรา 23 (2) ส่งเสริม สนับสนุนและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้านวิชาการ การศึกษา สุขภาพ กีฬา อาชีพและวัฒนธรรมในท้องถิ่นของเด็กและเยาวชน มาตรา 23 (3) ส่งเสริม สนับสนุนให้เด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกอย่างสอดคล้องกับความรู้ความสามารถที่พัฒนาไปตามวัยของเด็กหรือเยาวชน โดยเฉพาะที่มีผลกระทบต่อเด็กและเยาวชน

คณะบริหารสภาเด็กและเยาวชนมีแนวคิดอยากจะส่งเสริมการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดในชุมชนขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ร่วมกันทั้งภายในระดับหมู่บ้าน ตำบลและมีจุดการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนและประชาชนทั่วไป เนื่องจากที่ผ่านมาการเลี้ยงปลาในชุมชนยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการเลี้ยง ประกอบกับลูกพันธุ์ปลาที่นำมาเลี้ยงในบ่อต้องซื้อลูกปลาจากแหล่งที่ขายลูกพันธุ์ปลา ทำให้เกษตรกรมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงมีแนวคิดอยากส่งเสริมการเพาะพันธุ์ปลาในพื้นที่เพื่อลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ โดยได้รับความอนุเคราะห์สถานที่จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ จากนายดนตรี เจริญสุข ในการดำเนินกิจกรรมของศูนย์

การดำเนินงานของศูนย์ฯ จัดตั้งศูนย์ พ.ศ. 2560 โดยมี นางสาวกรรณิการ์ แก้วนวล เป็นประธานศูนย์การเรียนรู้ พร้อมคณะทำงาน รวมทั้งสิ้น 21 คน เพื่อเป็นการสร้างเวทีองค์ความรู้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ในศูนย์ปัจจุบันมีบ่อเพาะพันธุ์ปลาจำนวน 4 บ่อ บ่อเลี้ยงปลา จำนวน 6 บ่อ คอกวัวขุน 1 คอก ระบบน้ำของศูนย์จะเป็นระบบหอถังใช้พลังงานแสงอาทิตย์ต้นกำเนิดพลังงาน ลูกพันธุ์ปลาที่เพาะ มี ปลาตะเพียน ปลาหมอเทศ ซึ่งปลาทั้งสองชนิด ตลาดมีความต้องการสูง ที่ผ่านมามีประชาชนที่สนใจการเพาะพันธุ์ปลาเข้ามาเยี่ยมชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้อยู่ตลอด รวมทั้งเป็นสถานที่จัดอบรมระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่

กิจกรรมโดดเด่นของศูนย์การเรียนรู้ที่ดำเนินงาน

          ศูนย์การเรียนรู้เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของการเพาะพันธุ์ปลาและเลี้ยงปลา รวมทั้งสร้างเครือข่ายในการเลี้ยงปลาในชุมชน โดยผู้ที่สนใจการเลี้ยงปลา รวมกลุ่มเพาะพันธุ์ปลาและอนุบาลที่ศูนย์การเรียนรู้พร้อมทั้งให้ความรู้ควบคู่กับการอนุบาลลูกปลา เมื่อปลาอายุเหมาะสมต่อการลงบ่อ ก็แจกให้กลุ่มไปเลี้ยงในสถานที่ของตัวเองทั้งการส่งเสริมการเลี้ยงในบ่อและเลี้ยงในนาข้าว

เทคนิค/วิธีการนากรพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้มีความน่าสนใจ

          ศูนย์การเรียนรู้นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลาและเลี้ยงปลาแล้ว ศูนย์ยังได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้โดยกรนำสิ่งที่มีอยู่ในศูนย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เช่น ในการเลี้ยงปลานอกจากอาหารที่ได้จากอาหารปลาสำเร็จรูป ยังได้สร้างอาหารตามธรรมชาติโดยการใช้ประโยชน์จากมูลสัตว์ที่เลี้ยงในศูนย์และฟางข้าวที่เหลือจากการปลูกข้าวมาสร้างอาหารตามธรรมชาติ และระบบน้ำในการอุปโภคบริโภคใช้ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าในสูบน้ำ ซึ่งกิจกรรมของศูนย์นอกจากการเลี้ยงปลาแล้วยังเป็นต้นแบบการใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ทำให้ผู้ที่มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้นากจากจะได้ความรู้จากการเพาะพันธุ์ปลายังสามารถเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากพลังงานแสงอาทิตย์อีกทางหนึ่งด้วย

แนวทางการสร้างและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้ยั่งยืน

          ศูนย์เรียนรู้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการที่เป็นระบบชัดเจน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและนำไปสู่เป้าหมายของศูนย์ ดังนั้นจึงต้องมีการบริหารจัดการที่ดี ทั้งวางแผนการปฏิบัติงาน การบริหารจัดการคณะทำงานที่ขับเคลื่อน การจัดการงบประมาณหรือแหล่งที่มาของรายได้เพื่อให้แหล่งเรียนรู้นั้นมีประสิทธิภาพ จากองค์ประกอบในการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ การพัฒนาให้มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกคนในการออกแบบและวางแผนการทำแหล่งการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับเยาชนและเกษตรกร ต้องได้รับแรงสนับสนุนจากภายนอก เช่น ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้สนับสนุนต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ศูนย์การเรียนรู้มีความเป็นไปได้และเป็นรูปแบบร่างมากขึ้น

แผนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย

          แนวทางการพัฒนา โดยการสร้างแกนนำในการจัดตั้งกลุ่มต่างๆ ในชุมชน เช่น กลุ่มเลี้ยงปลาในนาข้าว กลุ่มเลี้ยงปลาหมาเทศ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลา( ปลาร้า ปลาส้ม ปลาตากแห้ง) โดยสนับสนุนให้สมาชิกภายในกลุ่มมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งงกันและกันมีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยการสร้างเป็นวัฏจักรของผลิตภัณฑ์จากปลา ซึ่งจุดเริ่มต้นจากกลุ่มเพาะพันธุ์ปลา อนุบาลลูกปลาแล้วส่งต่อไปยังกลุ่มเลี้ยงปลากลุ่มต่างๆ เมื่อปลาได้ขนาดที่เหมาะสมกับความต้องการ ส่งต่อไปยังกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากปลา จะทำให้เกิดการหมุนเวียนในชุมชน โดยให้ศูนย์การเรียนรู้เป็นจุดศูนย์การพร้อมทั้งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการอบรมให้ความรู้เพิ่มเติม