ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา นายพา สายสมบัติ บ้านท่าก่อ อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี

ข้อมูลทั่วไปบ้านท่าก่อ อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี

ที่ตั้ง  บ้านท่าก่อ หมู่ที่ 2 ตำบลนาจะหลวย  อำเภอนาจะหลวย  จังหวัดอุบลราชธานี

ประวัติศูนย์การเรียนรู้

นายพา  สายสมบัติ เป็นเกษตรกรต้นแบบทีมีความรู้ ความชำนาญ ประกอบกับความขยันที่มีอยู่เป็นทุนเดิม และมีสมาชิกครอบครัวที่ส่งเสริมการทำการเกษตร ส่วนแรงบันดาลใจที่ปราชญ์ชาวบ้านผู้นี้ ได้ทำไร่นาสวนผสม เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ปลูกเป็นประจำทุกปี มีการลงทุนสูงทั้งค่ายา ค่าปุ๋ย ไม่คุ้มค่าเมื่อจำหน่าย ทำให้เกิดภาวะขาดทุนต่อเนื่อง จึงมีแนวคิดทำการเกษตรผสมผสาน รวมเข้ากับไร่นา ซึ่งในที่ดินต้องปลูกพืชผัก ผลไม้ให้หลายหลายชนิด เพื่อการบริโภคเอง และจำหน่ายปลีกย่อยตามตลาดชุมชน มองว่าจะเป็นการประหยัดรายจ่ายได้ นอกจากการทำนาเพียงอย่างเดียวซึ่งจะเสียค่าปุ๋ยในราคาสูงแต่ผลตอบแทนน้อย

ในทำการเกษตรแบบผสมผสานตามทฤษฎีใหม่ ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำไร่นาสวยผสม ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผลตามฤดูกาลอย่างหลากหลายชนิด มีการปลูกพืชล้มลุกที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดได้ตลอดฤดูกาล    และมีการเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถนำไปจำหน่ายได้ตลอดปี มีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด ๙๒ ไร่ ๒ งาน ทำให้เกษตรกร “มีกินมีใช้  ไม่มีภาระหนี้สิน” ได้รับการยกย่องเป็นเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัดอุบลราชธานี  สาขาไร่นาสวนผสม

          ภายในศูนย์การเรียนรู้ แบ่งพื้นที่ออกเป็นสัดส่วนต่าง ๆ โดยใช้หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ ประกอบด้วยพื้นที่นา,พื้นที่เพาะปลูก, เลี้ยงสัตว์, พื้นที่กักเก็บน้ำ และพื้นที่พักอาศัย ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่เรียบง่าย รวมถึงกิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่างๆ อาทิเช่น ฐานเลี้ยงปลา ฐานเลี้ยงกบ ฐานเลี้ยงหมูฐานน้ำส้มควันไม้

องค์ความรู้ที่ได้สะสมมา เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง  ทำให้ปัจจุบันนั้นนอกจากจะเป็นเกษตรกรดีเด่นแล้วยังเป็นผู้ที่ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเกษตรให้กับ เด็ก เยาวชน เกษตรกร และผู้ที่สนใจ เป็นแหล่งเรียนรู้ของประชาชนรวมทั้งหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ในห่วงที่ผ่านมาศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ ได้ให้การต้อนรับคณะศึกษาดูงานเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิตชุมชน เกิดงานสร้างรายได้และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิต

จุดแข็งของศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชานายพา สายสมบัติ

          1. มีการดำเนินกิจกรรมภายในศูนย์โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

          2. มีหน่วยงานภาครัฐร่วมขับเคลื่อนศูนย์อย่างต่อเนื่อง

          3. ชุมชนมีความเข้มแข็งเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

          4. ระบบสาธารณูปโภคของชุมชนส่วนใหญ่มีความพร้อม

ทิศทางการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชานายพา สายสมบัติ  ในอนาคต

  1. การจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ
  2. จัดทำหลักสูตรระยะสั้น ฝึกอบรมสร้างอาชีพให้กับผู้ที่สนใจ
  3. ขยายฐานการตลาดให้มากขึ้น