ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรกรผสมผสาน
นายประสิทธ์ บุญแก้ว บ้านบัวเทิง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี

  1. การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

นายประสิทธิ์  บุญแก้ว  เริ่มดำเนินการในการทำศูนย์การเรียนรู้สวนเกษตรผสมผสานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545  โดยการเริ่มต้นจากการปลูกกุหลาบ ซึ่งการทำสวนกุหลาบนั้นได้ผลผลิตออกมาสู่ตลาดเป็นอย่างดี ต่อจากนั้นจึงได้คิดหาพืชที่จะนำมาปลูกในพื้นที่เดียวกันที่จะส่งผลผลิตให้ก่อให้เกิดรายได้จึงได้นำพันธุ์ต้นเขียวหวานมาปลูก ต่อจากนั้นได้นำพืชผลไม้มาปลูกเพิ่มหลายชนิด โดยมีหน่ายงานทางภาครัฐ สำนักงานเกษตรอำเภอ สำนักงานพัฒนาชุมชนเข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้ในการพัฒนาต่อยอด และมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานีได้นำนักศึกษา บุคลากร คณาจารย์ มาศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และใช้สถานที่ฝึกอบรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การทำเกษตรแบบผสมผสาน เพื่อให้นักศึกษา บุคลากร คณาจารย์ นำไปประยุกต์ใช้ทั่วไป

  • กิจกรรมโดดเด่นของศูนย์การเรียนรู้ที่ดำเนินงาน
  • การปลูกไม้ผลกว่า 20 ชนิด ได้แก่ ทุเรียน ลองกอง มะนาว กล้วย ลำไย มะยงชิด เงาะ ลิ้นจี่ มังคุด ส้มโอ มะพร้าวน้ำหอม แก้วมังกร มะม่วง น้อยหน่า โกโก้ ทับทิม เป็นต้น
  • การทำเกษตรแบบผสมผสาน
  • การผลิตปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์
  • การเลี้ยงปลาดุกและปลาหมอ
  • การสาธิตการตอนชำกิ่งพริกไทย
  • การปลูกและขยายพันธุ์พืชครบวงจร
  • เทคนิค/วิธีการในการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้มีความน่าสนใจ

การทำเกษตรต้องเริ่มจากการลงมือทำจริง การทำด้วยใจรักและมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ โดยมีเทคนิค ดังนี้

          1. การรักในพืชที่ปลูก

          2. การสังเกตว่าพืชที่จะนำมาปลูกในพื้นที่ของตัวเองนั้น ก่อให้เกิดผลผลิตและรายได้มากน้อยขนาดไหน

3. การศึกษาวิธีการปลูกวิธีการดูแลบำรุงรักษา จุดอ่อนจุดแข็งของพืช สภาพดินในพื้นที่ตัวเอง ปุ๋ยหรืออาหารที่จะมาบำรุงทุกอย่างของพืช ตั้งแต่รากไปจนถึงใบและผลผลิต

4. การงลงมือปฏิบัติการปลูก ความเอาใจใส่ ความอดทน

5. การพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจและขยายผล

  • แนวทางการสร้างและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน

พัฒนาศูนย์เรียนรู้การเกษตรแบบผสมผสานที่สามารถเป็นห้องเรียนและพื้นที่ฝึกปฏิบัติเพื่อเป็นต้นแบบในการสร้างรากฐานความรู้ทางการเกษตร โดยเฉพาะการทำพืชเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นที่มาของรายได้ให้แก่เกษตรกร มีแปลงเกษตรและการทดลองพืชประเภทต่างๆ ที่มีผลต่อการพัฒนาเชิงเกษตรและเกษตรแปรรูป ตลอดจนการพัฒนาเพิ่มมูลค่า รวมถึงในด้านการตลาด รวมทั้งยังเป็นแหล่งรับซื้อผลิตผลทางการเกษตร และเป็นศูนย์การเรียนรู้ทางการเกษตรแบบผสมผสานสนองนโยบายของรัฐบาลในด้านต่างๆ ซึ่งถือเป็น“ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอย่างยั่งยืน”

  • แผนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย

เพิ่มศักยภาพศูนย์การเรียนรู้ให้เป็นห้องเรียนด้านการเกษตรผสมผสานเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา ชุมชนทั้งภายในและภายนอก เข้ามาศึกษา และเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรแบบผสมผสาน ที่สามารถประยุกต์นำไปใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้จริง พร้อมทั้งยังสามารถนำความรู้ทั้งทฤษฎีรวมทั้งการลงมือปฏิบัติจริง นำกลับไปดำเนินงานต่อภายในพื้นที่ของตัวเอง และดูแลให้ถูกระบบพร้อมติดตามจดบันทึก เพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการปฏิบัติให้เกิดผลผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนการรองรับหน่วยงานต่าง ๆ ตามภารกิจเพื่อให้สอดคล้องและพัฒนาต่อยอดร่วมกัน

6.  ผลงานโดดเด่นที่เคยได้รับการยกย่อง

1. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดป้าย “ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ”  ปี พ.ศ. 2557

2. ได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  รายงานผลการดำเนินการของ

“ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ” ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี  ปี พ.ศ. 2558

3. ได้โล่รับรางวัล เป็นผู้มีคุณสมบัติและเหมาะสมเป็นปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน ระดับจังหวัด สาขา เกษตรผู้นำชุมชนและเครือข่าย จาก นายชวน  ศิรินันท์พร  ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ปี พ.ศ. 2552