ความเป็นมาของศูนย์การเรียนรู้
ที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้ เดิมเป็นดินภูเขาไฟเก่ามาหลายหมื่นปีมีลักษณะเป็นเนินภูเขาดินเตี้ยๆ เป็นดินแดงที่มีความอุดมสมบูรณ์และเป็นต้นน้ำลำธาร เดิมชาวบ้านมักเรียกผืนดินแห่งนี้ว่า “ภูดินแดง” เหมาะแก่การทำการเกษตรเป็นอย่างยิ่ง เดิมเคยปลูกข้าวไร่ ข้าวโพด ข้าวฟ่าง พริก ฝ้าย ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะลัง ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๓๘ ได้รับที่ดินแห่งนี้จากการแบ่งมรดกจาก พ่อแม่
ประมาณ ๕ ไร่ ได้นำมาปลูกมันเทศอยู่ ๓ ปีต่อมาได้ปรับโครงสร้างการผลิตการเกษตรจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยปลูกมะม่วงพันธ์ กล้วยน้ำหว้า และฝรั่งพันธ์กลมสาลี่
ซื้อมาจากภูเงินอำเภอกันทรักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน ๒๐๐ ต้นปลูก ๘ เดือนก็ได้ผลผลิตก็เริ่มออกจำหน่ายในหมู่บ้าน เมื่อมีผลิตออกมามากก็ขยายตลาดออกสู่นอกหมู่บ้าน จนเป็นที่รู้จักกันไปทั้งตำบลเพราะมีสวนเดียวและสวนแรกในถิ่นนี้ จึงมีเกษตรกรหลายคนสนใจมาเรียนรู้วิธีการปลูกฝรั่งตลอดทั้งการดูแลรักษาและสั่งจองกิ่งฝรั่งเพื่อนำปลูกต่อไป
ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๔๔ ได้แลกเปลี่ยนที่ดินกับน้องชาย จำนวน ๕ ไร่ เดิมเป็นดินแปลงเดียวกัน รวมกันเป็น ๑๑ ไร่ จึงได้ขยายพื้นที่ปลูก กล้วยน้ำหว้า ขนุน ลำไย ไผ่ตรง ฝรั่งและผักหวานบ้านจีนผสมผสานกันแต่ยังเป็นเกษตรแบบเคมีอยู่ ทำให้ครอบครัวมีรายได้หมุนเวียนตลอดทั้งปี ต่อมาเมื่อหน่วยงานภาครัฐพบเห็นจึงได้ประชาสัมพันธ์ให้และเชิญไปเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง
และได้นำกลุ่มองค์กรมาดูงาน ต่อมาเมื่อปี ๒๕๔๘ เริ่มปรับเปลี่ยนจากการทำเกษตรแบบเคมีเป็นเกษตรแบบอินทรีย์โดยมีการศึกษาแบบค่อยเป็นค่อยไปแล้วค่อย ลด ละ เลิก ต่อมาเมื่อปี ๒๕๕๘ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการ คนกล้าคืนถิ่น และ ในปีเดียวกันได้รับคัดเลือกจากปกครองจังหวัดอุบลฯให้ไปอบรมที่วิทยาลัยการปกครองธัญบุรี หลักสูตรกำนันผู้ใหญ่บ้าน(เดินตามรอยเบื้องพระยุคคลบาท)ปัจจุบันปรับเปลี่ยนเป็นเกษตรอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์
๑. การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ตั้งแต่อดีดจนถึงปัจจุบัน
การดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ที่ผ่านมา เป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ครอบครัวตัวเองได้อยูดีกินดี มีกินมีใช้ พึ่งตนเองได้แล้วเผื่อแผ่แบ่งปัน ไม่มีใครมาจัดตั้งให้เป็นศูนย์ฯแต่มีความมุ่งมั่นในการก้าวเดินตามรอยเบื้องพระยุคคลบาทตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชการที่ ๙ ด้วยจิตใจอันแน่วแน่และมั่นคงเสมอมา จนเป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีชีวิตเป็นไปโดยธรรมชาติ
ต่อมาปี ๒๕๖๐ เกษตรอำเภอได้ส่งรายชื่อสมัครเข้าร่วมโครงการ “๕ ประสานสืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง” ได้เป็นแปลงต้นแบบ ในปีเดียวกันได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ประจำตำบล โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดอุบลฯ ปี พ.ศ.๒๕๖๑ เป็นแหล่งท่องเที่ยว otop นวัตวิถีต้นแบบ ปี พ.ศ.๒๕๖๓ เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ PGS (กินสบายใจ) ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ ได้เข้าร่วมโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์ โคก หนอง นา ของกรมการพัฒนาชุมชน
๒.กิจกรรมโดดเด่นของศูนย์การเรียนรู้ที่ดำเนินงาน
๒.๑ การทำเกษตรอินทรีย์ โดยการปรับปรุงบำรุงดินด้วยปุ๋ยหมักและน้ำหมักจุลินทรีย์
๒.๒ การขยายพันธ์พืช โดยการ ตอน ทาบกิ่ง ติดตา เสียบยอด และการควบแน่น
๓.เทคนิค/วิธีการการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ให้มีความน่าสนใจ
๓.๑ เทคนิค ให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติและสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้
๓.๒ วิธีการ สร้างฐานการเรียนรู้พร้อมสื่อที่มีชีวิตให้ผู้เรียนได้เห็นและปฏิบัติได้จริง
๔.แนวทางการสร้างและพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ คงอยู่อย่างยั่งยืน
๔.๑ นำเทคโนโลยีและพลังงานทดแทนมาใช้เพื่อให้ก้าวทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง
๔.๒ สร้างฐานการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนมีทางเลือกใหม่
๔.๓ สร้างองค์ความรู้ใหม่ /ถอดบทเรียนจากการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา
๔.๔ เชื่อมประสานกับปราชญ์และศูนย์เรียนรู้อื่นเพื่อการแลกเปลี่ยนประสบการณ์
๕.แผนการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้และการสร้างเครือข่าย
๕.๑ จัดหาพลังงานทดแทนพลังสะอาดมาใช้ประกอบการเรียนรู้
๕.๒ นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเรียนรู้การควบคุมระบบน้ำการทำเกษตรด้วยโทรศัพท์มือถือ
๕.๓ สร้างฐานการเรียนรู้
๕.๔ สร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาความสมดุลของระบบนิเวศเกษตรยั่งยืน
๕.๔ จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างศูนย์การเรียนรู้อื่นและปราชญ์ชาวบ้าน