บริบทบ้านโนนมะเขือ ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
บ้านโนนมะเขือหมู่ที่ 5 ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2460 ซึ่งในขณะนั้นได้มีชาวบ้าน จากบ้านกาบิน มานอนเฝ้านาในฤดูทำนา และเห็นว่าทำเลแห่งนี้เหมาะสำหรับจะตั้งเป็นหมู่บ้าน จึงได้พากันออกมา ปลูกบ้านเรือน ซึ่งคนกลุ่มแรกที่ออกมาประกอบด้วย นายฮุถจักร นายเต็ง นายถูนา นายเคน และนายอ้วน ในขณะนั้นได้ตั้งชื่อว่า บ้านโนนใต้ เพราะอยู่ทางทิศใต้ของบ้านกาบิน ซึ่งเป็นบ้านเดิมและขึ้นกับ ตำบลกาบิน อำเภอตระการพืชผล ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน เป็น บ้านโนนมะเขือ เมื่อประมาณ ปี 2490 และเมื่อตั้งกิ่งอำเภอกุดข้าวปุ้น ในขณะนั้น บ้านโนนมะเขือ ก็ได้แยกออกจาก อำเภอตระการพืชผล มาขึ้นกับ อำเภอกุดข้าวปุ้น จนถึงปัจจุบัน โดยมีรายชื่อผู้ใหญ่บ้านดังนี้
ทำเนียบผู้ใหญ่บ้าน
1. นายฮุถจักร บรรดาตั้ง
2. นายคำภูนา สุวรรณโค
3. นายอ้วน สมภักดิ์
4. นายเปา อัปกาญจน์
5. นายกอง ไชยภูมิ
6. นายแดง กางกั้น
7. นายเจริญ อัปกาญจน์
8. นายคูณ สีบุญ คนปัจจุบัน
1.1 ข้อมูลประชากร อาชีพ รายได้ จำนวนประชากร
1. จำนวนครัวเรือน 102 ครัวเรือน
2. ประชากร 485 คน ชาย 238 คน หญิง 247 คน
3. อาชีพหลักทำนา จำนวน 99 ครัวเรือน
4. อาชีพเสริม เลี้ยงสัตว์ จำนวน 45 ครัวเรือน ค้าขาย จำนวน 1 ครัวเรือน รับจ้าง จำนวน 25 ครัวเรือน
ปัจจุบัน มีพระครูสุภกิจมงคล เป็นพระผู้นำด้านการพัฒนาสังคมทั้งในด้านการเป็นวิทยากรเผยแพร่คุณธรรมจริยธรรม แก่นักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไป ถ่ายทอดกระบวนการพัฒนาชุมชนด้วยกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อการจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิกในชุมชนและการเป็นหมู่บ้านปลอดเหล้าถาวร มาอย่างต่อเนื่องทั้งที่มาศึกษาดูงานในชุมชนและการได้รับนิมนต์ให้ไปบรรยายในสถานที่ หน่วยงาน/องค์กรต่างๆ ซึ่งในปี 2555 จนถึงปัจจุบัน ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี โดยสำนักบริการวิชาการชุมชน และคณะต่างๆได้ประสานการทำงานร่วมกับหลวงพ่อ มาอย่างต่อเนื่องมีการศึกษาเรียนรู้ชุมชน การทำงานวิจัยและการนำนักศึกษาออกค่ายอาสาเพื่อพัฒนาชุมชนท้องถิ่นโดยมีเป้าหมายคือ การให้ “บ้านโนนมะเขือเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็ง เครือข่ายมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี”
พระครูสุภกิจมงคล
เจ้าอาวาสวัดบ้านโนนมะเขือ เจ้าคณะตำบลกาบิน
อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
1. ประวัติส่วนตัว
สถานะเดิม ชื่อ นายสง่า นามสกุล คณาดา เกิดวันเสาร์แรม 13 ค่ำ เดือน 6 ปีเถาะ
วันที่ 2 เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2494
บิดาชื่อ นายไพ มารดาชื่อ นางจันทร์ นามสกุล คณาดา อยู่บ้านเลขที่ 23 หมู่ 5 ตำบลกาบิน
อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
บรรพชา
วันพฤหัสบดี ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 ปีฉลู วันที่ 28 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517
วัดอินทาราม ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
พระอุปัชฌาย์ พระมงคลปุญญสาร วัดศรีโพธิ์ชัย ตำบลขุหลุ อำเภอตระการพืชผล
จังหวัดอุบลราชธานี
อุปสมบท
วันพฤหัสบดี ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 4 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 วัดอินทาราม ตำบลกาบิน
อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
วิทยฐานะ
พระครูสุภกิจมงคล ปัจจุบันอายุ 63 ปี พรรษา 41 วิทยฐานะ น.ธ. เอก
วัดบ้านโนนมะเขือ ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง
1. เจ้าคณะตำบลกาบิน
2. เจ้าอาวาสวัดบ้านโนนมะเขือ ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
2. ประวัติด้านการศึกษา
– พ.ศ. 2543 สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี
– พ.ศ. 2524 สอบได้นักธรรมชั้นเอก วัดอินทาราม สำนักเรียนวัดอินทาราม
– การศึกษาพิเศษ สามารถอ่านและเขียนอักษรธรรมได้
– ความชำนาญการ ช่างไม้ ช่างปูน การเทศนา
– ผ่านการอบรมการใช้สมุนไพรรักษาโรคมะเร็งทุกชนิด จากสมาคมแพทย์ภูมิปัญญาไทย
3. ประวัติการทำงาน
พระครูสุภกิจมงคล เป็นบุคคลผู้ที่ทุกคนที่ให้ความเคารพนับถือ เพราะท่านเป็นผู้ที่มี ภูมิปัญญาความรู้ทั้งทางด้านคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมและประเพณี ความรู้ความสามารถมากมายโดยที่ท่านได้ผ่านการศึกษาอบรมเล่าเรียนมา ตลอดจนท่านได้เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมควรที่ทุกคนให้ความเคารพนับถือ เป็นปูชนียบุคคลอีกบุคคลหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ดังนั้นจึงขอนำหลักการและวิธีการพร้อมทั้งภูมิปัญญาความรู้อันเป็นผลงานของท่านมาเรียบเรียงไว้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติและเป็นความรู้เพื่อง่ายแก่การศึกษาค้นคว้าของผู้ที่ใฝ่ใคร่ศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นทั้งด้านคุณธรรม จริยธรรม วัฒนธรรมและประเพณี ของพระครูศุภกิจมงคล วัดโนนมะเขือ ตำบลกาบิน อำเภอกุดข้าวปุ้น จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลของการที่ได้นำเอาคุณธรรม จริยธรรม ไปประพฤติปฏิบัติสืบต่อมา ภายใต้แนวทางดังนี้
วิสัยทัศน์
พัฒนาสังคม พัฒนาจิต พัฒนาชีวิต ตามหลักธรรม และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
พันธกิจ
ส่งเสริมคนดี เปลี่ยนวิถีในคนที่ติดอบายมุขสร้างและพัฒนาเครือข่ายให้ทรงพลัง พัฒนาศักยภาพเพิ่มทักษะให้กับกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ สร้างศาสนทายาทให้เป็นบุคคลคุณภาพ
ยุทธศาสตร์
ช่วยไม่ให้ล้ม และก้มลงไปช่วย
เสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ทีมงานและเครือข่าย
วัดเข้มแข็ง ครอบครัวทรงประสิทธิผล ชุมชนสามัคคี โรงเรียนดีมีคุณภาพ
เป้าประสงค์
คนที่เคยดำเนินชีวิตผิดพลาดกลับมามีโอกาสใช้ชีวิตใหม่ในสังคม
คนในสังคมมีการพัฒนาด้านจิตใจ ด้านเศรษฐกิจ และ ด้านสังคม/วัฒนธรรม
องค์กรเครือข่ายและทีมงานมีความเข้มแข็งสามารถขับเคลื่อนงานไปสู่เป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทภาระกิจหลักของพระครูสุภกิจมงคล
1. พัฒนาคุณภาพชีวิตพระภิกษุ สามเณร เด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ด้านจิตใจ /ด้านสังคม/วัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจ
2. เป็นศูนย์ประสานงานชมรมผู้สูงอายุ
3. เป็นศูนย์ประสานงานถักทอเครือข่ายพลังชุมชน
4. เป็นศูนย์ประสานเครือข่ายกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
5. เป็นศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้ติดสุรา ยาเสพติด ทุกชนิด
6. เป็นศูนย์ฝึกอบรมคุณธรรมจริยธรรมแก่พระภิกษุ สามเณร เด็ก เยาวชน
นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
กิจกรรมหลักที่ให้การศึกษาอบรมหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาแก่เยาวชนและประชาชนทุกวันอาทิตย์
- จัดให้มีการสวดมนต์ไหว้พระทุกวันอาทิตย์ในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนจัดสวดมนต์ไหว้พระทำวัดเย็นทุกคืน
- รณรงค์เยาวชนและประชาชนได้ลด ละ เลิก เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด ตลอดระยะเวลาในพรรษา
- จัดให้มีการสาธิต ปฏิบัติการฝึกด้านทักษะวิชาชีพต่าง ๆ ตามแบบวิถีไทย ให้แก่เยาวชนตามโอกาสและความสมัครใจ
- เปิดวัดบ้านโนนมะเขือให้เป็นสถานที่ฝึกธรรมะให้แก่เยาวชน และประชาชนทุกภาคส่วน ให้เข้ามาใช้ในการจัดกิจกรรม ตามที่หน่วยงานหรือองค์กรต่าง ๆ ที่มาใช้ในการจัดกิจกรรม
- ให้ความร่วมมือกับเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ และองค์กรพัฒนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและหลักวิธีธรรมทางพระพุทธศาสนาในโอกาสต่าง ๆ
โดยมีเป้าหมาย คือ
- ให้เยาวชนและประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา และนำเอาหลักธรรมไปใช้ในการดำรงชีวิตให้ถูกต้อง
- ให้เยาวชนและประชาชนทุกหมู่เหล่า มีความรัก ความสามัคคีมีระเบียบวินัยต่อตนเองและสังคม
- ให้เยาวชนและประชาชนทุกหมู่เหล่า มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และเทิดทูนไว้ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะของชาวไทยทั้งมวล
จุดเด่นของศูนย์การเรียนรู้ชุมชนเข้มแข็งบ้านโนนมะเขือ
ด้านการฝึกอบรม
1. จัดอบรมคุณธรรม จริยธรรมทุกรูปแบบ แก่ เด็ก เยาวชน นิสิต นักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป
2. ให้การสงเคราะห์และบำบัดฟื้นฟูผู้จิตใจติดสุรา ยาเสพติด ตำบลต้นแบบปลอดเหล้า ประเพณีปลอดเหล้า
3. พัฒนาผู้สูงวัยให้แก่อย่างมีคุณค่า ชราอย่างมีคุณภาพ
4. บำบัดฟื้นฟูจิตใจผู้ติดสุรา ยาเสพติด ทุกชนิด
5. โครงการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ช่วงเดือน ก.ค. – ต.ค. ทุกปี
6. โครงการสวดมนต์ปฏิบัติธรรม วันพระ ทุกวันพระ ตลอดปี
7. โครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน (ต่อเนื่องทุกปี)
8. จัดโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา หมู่บ้านรักษาศีลห้า เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ
9. เป็นศูนย์ปองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปอำเภอกุดข้าวปุ้น ( ศปป.อ. กป. ) ณ ที่ทำการปกครองอำเภอกุดข้าวปุ้น ตามนโยบายของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ
10. จัดการฝึกอบรมหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนาให้แก่เยาวชนทั้งในและนอกห้องเรียน
ทุกวันอาทิตย์
11. จัดการฝึกอบรมทักษะวิชาชีพแก่ประชาชนทั่วไปโดยแกนนำเอาภูมิปัญญาที่มีอยู่และใน
หมู่บ้านหรือในท้องถิ่นมาใช้ โดยเชิญมาเป็นวิทยากรให้ความรู้ และฝึกปฏิบัติจริง
ด้านการส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี
- การฝึกเยาวชนให้ปฏิบัติประกอบพิธีกรรมทางศาสนา โดยเชิญวิทยากรมาให้การฝึกและสาธิต มีเยาวชนเข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 70 คน
- การฝึกเยาวชนและประชาชนร้องบทสรรเสริญ เป็นทำนองสรภัญญะ มีประชาชนและเยาวชนเข้าร่วมฝึก จำนวน 60 คน
- กิจกรรมส่งเสริมให้เยาวชนและประชาชนแต่งกายแบบไทยโดยนุ่งผ้าถุงอันเป็นผ้าพื้นบ้านของตนเอง เมื่อเข้าวัดหรือศาสนสถาน
ด้านการส่งเสริมกิจกรรมในชุมชน
- จัดกิจกรรมประชาคมหมู่บ้าน เพื่อหาแนวทางในการตั้งกฎกติกาและแนวปฏิบัติร่วมกัน เกี่ยวกับการตกลง การลด ละเลิก การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ และอบายมุขต่าง ๆ
- จัดประชุมผู้นำหมู่บ้านและชุมชน ประกอบไปด้วย พระสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต. สาธารณสุข ผู้บริหารสถานศึกษาและคณะครูตลอดจนผู้ที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อหาแนวทางจัดกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการลดละเลิก อบายมุข
- ส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) โดยให้สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสถานที่การฝึกอบรม เป็นวิทยากรในการอบรม เป็นแหล่งเรียนรู้
ของ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
ด้านการรณรงค์ลด ละ เลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติด
1. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลกาบิน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม
สุขภาพ (สสส.) ให้ประชาชนลด ละเลิก การดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ ตลอดจนอบายมุขต่าง ๆ ภายในตำบลกาบินในระหว่างเข้าพรรษา
2. ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลกาบินรณรงค์ประกาศให้ หมู่บ้านโนนมะเขือและ
บ้านโนนดอกแก้ว เป็นหมู่บ้านปลอดเหล้าถาวร
ด้านการเข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรชาวพุทธและองค์กรพัฒนาต่าง ๆ
- เข้าร่วมประชุมสัมมนากับเครือข่าย วัดวิถีพุทธ ที่วัดทุ่งศรีเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี
- เข้าร่วมประชุมสัมมนากับเครือข่าย องค์กรพัฒนาที่มหาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
- นำประชาชนเข้ารวมพิธีสำคัญต่าง ๆ เช่นการปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียรติที่วัด ทุ่งศรีเมืองอำเภอเมืองอุบลราชธานี
ด้านการสนับสนุนคนดีและสงเคราะห์ผู้ด้วยโอกาสในสังคม
- จัดหาทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่มีความประพฤติดีแต่ยากจน
- จัดหาทุนเลี้ยงชีพ สำหรับประชาชนทั่วไป โดยขอสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาบริจาคไถ่ชีวิตโค กระบือ แล้วนำมามอบให้เกษตรกรในหมู่บ้านต่าง ๆ โดยการจับฉลาก
- สนับสนุนทุนเพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ
- โดยสนับสนุนกลุ่มอาชีพที่ทำจากไม้ไผ่ บ้านน้อยนาสะแบง จำนวน 20,000 บาท ทุนสนับสนุนกลุ่มอาชีพ การทำขนมจีน หมู่ที่ 1 ตำบลกาบิน ตลอดถึงทุนสนับสนุนกิจการจัดกิจกรรมอื่น ๆ
บทสัมภาษณ์
“หลวงพ่อมีความตั้งใจที่จะเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชาวบ้านทุกคนให้มีความสุขทั้งด้านร่างกายและจิตใจ และเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับหมู่บ้านและชุมชนอื่นๆได้นำขยายผลไปปฏิบัติเป็นแบบอย่าง โดยเฉเพาะด้านการจัดสวัสดิการสังคมของคนในชุมชนที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามตกทุกข์ได้ยาก รวมทั้งการลด ละเลิกอบายมุขทั้งปวงจะทำให้ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรืองทั้งตนเอง ครอบครับและสังคมโยส่วนรวมด้วย”
หลักสูตรที่มีในศูนย์การเรียนรู้
1. หลักสูตรอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน ทั้งไป -กลับและพักค้างคืน
2. การบำบัดผู้ติดสุราและยาเสพติดทุกประเภท
3. การพัฒนาทักษะชีวิต
4. การศึกษาดูงานและถอดบทเรียนกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์
การเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยและศูนย์การเรียนรู้
1. นำคณาจารย์และนักศึกษาออกค่ายอาสาเรียนรู้และร่วมพัฒนาชุมชน
2. ร่วมกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติกับชุมชน
3. จัดอบรมนักศึกษาจิตอาสาเพื่อบริการวิชาการชุมชน
ทิศทาง/ยุทธศาสตร์การดำเนินงานร่วมกับศูนย์การเรียนรู้ในอนาคต
1. นำคณาจารย์และนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยลงพื้นที่ร่วมศึกษาเรียนรู้ชุมชน
2. การพัฒนาให้มีฐานการเรียนรู้ด้านสุขภาพในชุมชนให้มากขึ้น
3. การร่วมจัดกิจกรรมในชุมชนให้มากขึ้นและต่อเนื่อง
5. การถอดบทเรียนเพื่อสังเคราะห์เป็นชุดองค์ความรู้และเผยแพร่สู่สาธารณชน