ที่ตั้ง อยู่บ้านเลขที่ 123 หมู่ที่ 16 บ้านหัวเรือ ตำบลหัวเรือ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
ประวัติศูนย์การเรียนรู้
ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น นายบุญเหล็ง สายแวว ปราชญ์ชาวบ้าน เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีมาอย่างยาวนาน ซึ่งในศูนย์การเรียนรู้แห่งนี้มีการแบ่งพื้นที่ 16 ไร่ จะแยกเป็นด้านปศุสัตว์เลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ สุกร ด้านประมง เลี้ยงปลาดุก ปลาไน เลี้ยงกบ ด้านเกษตร ทำนา 5 ไร่ ปลูกข้าวเหนียว ข้าวเจ้า นอกนั้นจะปลูกพืชสมุนไพร เช่น ข่า ตะไคร้ บอระเพ็ด ไม้ผลและพืชผักสวนครัว เช่น มะม่วง มะพร้าว มะขาม มะยม ชมพู่ ลำไย มะกอกน้ำ ไผ่ กล้วย มะละกอ อ้อย บวบ ตามแนวราบบนพื้นดิน มะระ พริก หอม มะเขือ มะเขือเทศ ข้าวโพด ผักบุ้ง แตงร้าน ถั่วฟักยาว ฟักทอง ฟักแฟง แก้วมังกร มะนาว และอื่นๆ โดยมีแนวคิดว่า “ปลูกทุกอย่างที่กิน แต่อย่ากินทุกอย่างที่ปลูก”
ถ้าเราปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ทุกอย่างทุกชนิด ที่สามารถรับประทานได้ จะทำให้เราลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวแต่ละวันลงได้ เป็นการประหยัด อดออม เมื่อผลผลิตมีจำนวนมากก็นำไปขาย ได้เงินมาจุนเจือครอบครัว หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วเงินเหลือก็ออมไว้สำหรับเป็นทุนเพื่อใช้จ่ายในอนาคต
ผลผลิตบางส่วนที่มีเหลือก็แบ่งปันให้ญาติมิตร หรือผู้ใกล้ชิดโดยไม่คิดมูลค่า ซึ่งจะได้น้ำใจจากญาติมิตรอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนใบไม้ หญ้าก็ทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด เพื่อใช้บำรุงดินเป็นการลดต้นทุนการผลิตได้มาก ผลผลิตจากสวนทั้งหมดล้วนปลอดสารพิษ ผู้บริโภคสบายใจไร้กังวล ส่วนในเรื่องรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตอย่างน้อยมีรายได้วันละ 500 บาท
การเกษตรปลูกพริก ผักปลอดสารพิษ โดยปลูกพริกพันธุ์หัวเรือเป็นหลัก ป้องกันโรคเพลี้ยไฟ ช่วงก่อนติดดอก ด้วยการใช้สูตรสมุนไพร เช่น สะเดา ยาฉุน ผสมกำมะถัน เก็บผลิตผลได้สูงสุด 2,500 – 3,000 กิโลกรัม/ไร่ ผลิตเมล็ดพริกพันธุ์หัวเรือแท้ เพื่อจำหน่าย ปริมาณการผลิตปีละ 30 กิโลกรัม จำหน่ายกิโลกรัมละ 1,500 บาท มีผู้มาศึกษาดูงาน รับการถ่ายทอดความรู้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2533 จนถึงปัจจุบัน เกี่ยวกับการทำไร่นาสวนผสม การเพาะกล้าพริกพันธุ์หัวเรือ
และนอกจากนี้พ่อบุญเหล็ง สายแววยังเป็นวิทยากรบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีชื่อเสียงในระดับประเทศและมีหน่วยงานทั้งภายในจังหวัดและนอกจังหวัดเข้ามาเยี่ยมชมงานภายในศูนย์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
จุดแข็งของศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น นายบุญเหล็ง สายแวว ปราชญ์ชาวบ้าน
1. มีหลักสูตรอบรมเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งพักค้างคืนและ ไป-กลับ
2. มีหลักสูตรการเรียนรู้การทำขนมไทยและงานใบตอง
3. มีการพัฒนาทักษะชีวิต เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ ปลูกผัก
4. การศึกษาดูงานและถอดบทเรียนวิถีชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
5. มีฐานการเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจและอยู่ไม่ไกลจากตัวเมือง